Russo-Polish War; Polish-Soviet War (-; 1919-1921)

สงครามรัสเซีย-โปแลนด์; สงครามโปแลนด์-โซเวียต (-; พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๔)

สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสงครามโปแลนด์-โซเวียตเกิดจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับโปแลนด์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สงครามเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๙ และสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ด้วยสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* ทั้งโปแลนด์และรัสเซียต่างอ้างว่าตนเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงครามเพราะโปแลนด์สามารถปกป้องประเทศไว้ได้ และได้ครอบครองกาลิเซียตะวันออก (East Galicia) หรือยูเครนตะวันออก (East Ukraine) ในขณะที่รัสเซียอ้างว่าได้ชัยชนะเพราะสามารถขับไล่โปแลนด์จากการยึดครองยูเครน (Ukraine) และไวต์รัสเซีย (White Russia) หรือเบลารุส (Belarus) ได้

 สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ซึ่งโปแลนด์เรียกว่าสงครามโปแลนด์-บอลเชวิค (Polish-Bolshevik War) หรือสงคราม ค.ศ. ๑๙๒๐ (War of 1920) เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาแนวพรมแดนเคอร์เซิน (Curzon Line)* ที่มาร์ควิสจอร์จ นาทาเนียล เคอร์เซิน (George Nathaniel Curzon)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ณ พระราชวังแวร์ซายใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เพื่อยุติข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียต โปแลนด์ซึ่งถูกแบ่งแยกดินแดน ๓ ครั้ง คือใน ค.ศ. ๑๗๗๒ ค.ศ. ๑๗๗๕ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ จนถูกลบหายไปจากแผนที่ของยุโรปได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศเอกราชใหม่ใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ในการกำหนดเส้นพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับรัสเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้แนวพรมแดนระหว่าง ๒ ประเทศเริ่มจากเมืองกรอดโน (Grodno) ทางใต้ของลิทัวเนีย (Lithuania) ผ่านเมืองเบียลีสตอค (Bialystock) ไปยังเมืองเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk) ในภาคกลางของโปแลนด์และข้ามกาลิเซียตะวันออกไปยังพรมแดนทางเหนือของเชโกสโลวะเกีย รัสเซียยอมรับแนวพรมแดนนี้ เพราะตรงกับข้อเรียกร้องในแง่เชื้อชาติมากที่สุด แต่โปแลนด์ปฏิเสธเพราะต้องการได้กาลิเซียตะวันออกหรือยูเครนตะวันออกซึ่งเคยเป็นดินแดนของตนในอดีตกลับคืนทั้งต้องการได้ดินแดนของรัสเซียคือไวต์รัสเซียด้วย เพราะตระหนักว่าหากโปแลนด์มีดินแดนมากขึ้นก็จะเข้มแข็งและสามารถป้องกันการรุกรานของรัสเซีย แคว้นกาลิเฃีย (Galicia)* เคยเป็นดินแดนของโปแลนด์มาก่อนได้ถูกรวมเข้ากับออสเตรียใน ค.ศ. ๑๗๗๒ แต่อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ค.ศ. ๑๙๑๙ กาลิเซียถูกโอนคืนให้แก่โปแลนด์ แต่กาลิเซียตะวันออกซึ่งมีชาวยูเครนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากไม่ประสงค์จะรวมเข้ากับโปแลนด์และเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราช โดยรวมเข้ากับสาธารณรัฐยูเครนที่เพิ่งแยกตัวออกจากรัสเซีย

 เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* แม้ในระยะแรกโปแลนด์จะดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็คอยหาโอกาสที่จะขยายแนวพรมแดนด้านตะวันออกของตนออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กองทัพโปลเริ่มปะทะกับกองทัพแดง (Red Army)* ของรัสเซียประปรายในพื้นที่ของยูเครน เบโลรัสเซีย และลิทัวเนีย อย่างไรก็ตาม เมื่อกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลอันตอน เดนีกิน (Anton Denikin)* เป็นผู้บังคับบัญชาปรับแผนยุทธศาสตร์การรบด้วยการเคลื่อนกำลังจากทางรัสเซียตอนใต้มุ่งขึ้นเหนือเพื่อสนธิกำลังกับกองทัพของพลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* ซึ่งเคลื่อนทัพจากไซบีเรียมุ่งสู่กรุงมอสโก ขณะเดียวกัน กองทัพเหนือและกองทัพตะวันตกภายใต้การนำของนายพลนีโคไล ยูเดนิช (Nikolai Yudenich) ซึ่งมีศูนย์บัญชาการในเอสโตเนียจะบุกโจมตีนครเปโตรกราด (Petrograd) เพื่อเบี่ยงเบนกองทัพแดงที่ป้องกันกรุงมอสโกให้หันมาป้องกันนครเปโตรกราด ฝ่ายรัสเซียขาวได้ชูคำขวัญในการทำสงครามว่า “รัสเซียหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้” (Russia one and Indivisible) แผนการรบของฝ่ายรัสเซียขาวและนโยบายสงครามที่จะรวมรัสเซียให้เป็นเอกภาพตลอดจนการจะคืนอำนาจทางการเมืองให้แก่สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือโคมิช (Komich) ที่อ้างตนเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมซึ่งจัดตั้งขึ้นที่เมืองซามารา (Samara) มีส่วนทำให้โปแลนด์หวาดวิตกเพราะหากกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวมีชัยชนะ อาจมีการทบทวนเรื่องแนวพรมแดนระหว่างรัสเซีย-โปแลนด์ขึ้นอีกครั้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของโปแลนด์ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ ยูเซฟ ปีลซุดสกี (Jozef Pilsudski) ผู้นำโปแลนด์จึงเห็นความจำเป็นที่จะเปิดการเจรจาทำข้อตกลงกับรัฐบาลโซเวียต

 ในข้อตกลงลับระหว่างปิลซุดสกีกับวลาดีมีร์ เลนิน (Viadimir Lenin)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตโปแลนด์จะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวทั้งของนายพลเดนีกินและคอลชาค ส่วนรัฐบาลโซเวียตยอมรับแนวพรมแดนใหม่ที่โปแลนด์กำหนดซึ่งเริ่มจากเมืองวิลนา (Vilna) ในโปแลนด์จนถึงกรุงมินสค์ (Minsk) และเมืองลวอฟ (Lvov) ในเบโลรัสเซียและลิทัวเนียและจะไม่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในกองทัพโปลข้อตกลงลับดังกล่าวทำให้รัฐบาลโซเวียตทุ่มกำลังรบทั้งหมดต้านการบุกของเดนีกินและคอลชาค การรบในสงครามตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เป็นต้นมาจึงดำเนินไปอย่างดุเดือด และในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพฝ่ายรัสเซียขาวก็เริ่มล่าถอยในช่วงที่การรบกำลังติดพันอยู่นั้น โปแลนด์สนับสนุนให้ยูเครนตะวันตกหรือโซเวียต ยูเครน (Soviet Ukraine) บริเวณส่งตะวันตกของแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) แยกตัวออกจากรัสเซียเพื่อให้เป็นรัฐกันชนระหว่างโปแลนด์กับรัสเซีย ปีลซุดสกีทำสนธิสัญญาวอร์ซอ (Treaty of Warsaw) ค.ศ. ๑๙๒๐ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับกับซีมอน เปตลูย์รา (Semon Petliura)* ผู้นำชาตินิยมยูเครนโดยสนับสนุนการจัดตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนยูเครน (Ukraine People Republic) และการประกาศเอกราชของยูเครน ขณะเดียวกันเขาก็สนับสนุนด้านอาวุธแก่เนสเตอร์ มัคโน (Nestor Makhno)* ผู้นำชาวนาหัวรุนแรงในยูเครนให้เคลื่อนไหวต่อต้านทั้งฝ่ายรัสเซียขาวและรัสเซียแดงด้วย เมื่อกองทัพแดงบุกโจมตียูเครนตะวันตกเพื่อล้มล้างระบอบสาธารณรัฐที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น โปแลนด์เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนกำลังโจมตียูเครนตะวันออกซึ่งโปแลนด์อ้างสิทธิเป็นดินแดนในครอบครองตั้งแต่อดีตและเข้ายึดครองเบโลรัสเซียทั้งเคลื่อนกำลังมุ่งสู่กรุงเคียฟ (Kiev) รัฐบาลโซเวียตจึงอ้างว่าโปแลนด์ เป็นฝ่ายรุกรานก่อนและประกาศสงครามกับโปแลนด์

 ในช่วงเวลาเดียวกับที่สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ ก่อตัวขึ้น เยอรมนีกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในสืบเนื่องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายเคลื่อนไหวต่อต้านสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมและการจลาจลขึ้นทั่วไป รัสเซียคาดหวังว่าคนงานเยอรมันจะก่อการปฏิวัติขึ้นตามแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ในรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ เลนินเห็นว่าสงครามรัสเซีย-โปแลนด์จะเปิดทางให้รัสเซียขยายอำนาจเข้าไปในยุโรปกลาง เพื่อหนุนช่วยการก่อการปฏิวัติในเยอรมนีทั้งจุดชนวนการปฏิวัติโลกขึ้น รัสเซียจึงระดมกำลังตอบโต้การบุกยึดครองยูเครนตะวันตกของโปแลนด์และกำหนดแผนการรบมุ่งโจมตีกรุงวอร์ซอโดยเปิดแนวรบทั้งทางด้านตะวันตกและใต้พร้อมกันเพื่อให้โปแลนด์ต้องทำศึกสองด้าน

 ในระยะแรกของการรบ กองทัพโปสมีชัยชนะอย่างรวดเร็ว และสามารถตีฝ่าแนวป้องกันของกองทัพแดงและยึดเบโลรัสเซียและกรุงเคียฟได้ตามลำดับ แต่เมื่อกองทัพแดงสามารถสกัดกั้นการบุกของฝ่ายรัสเซียขาวได้ก็ระดมกำลังขับไล่กองทัพโปสจนปลดปล่อยโซเวียตยูเครนเบโลรัสเซีย และกรุงเคียฟได้สำเร็จในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ จากนั้นกองทัพแดงก็เคลื่อนกำลังมุ่งสู่กรุงวอร์ซอ (Warsaw) สถานการณ์รบที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้อังกฤษตัดสินใจเข้าแทรกแซงโดยเรียกร้องให้รัฐบาลโซเวียตยุติสงครามกับโปแลนด์ และเสนอให้ใช้แนวเขตของแม่น้ำบัก (Bug) เป็นแนวพรมแดนใหม่ระหว่างโปแลนด์กับรัสเซีย หากรัฐบาลโซเวียตไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวอังกฤษและฝรั่งเศสจะเข้าแทรกแซงเพื่อคํ้าประกันโปแลนด์อย่างไรก็ดี รัสเซียปฏิเสธที่จะยอมเจรจาด้วยเพราะในขณะนั้นกองทัพแดงมีชัยชนะในสงครามกลางเมือง และประเทศสัมพันธมิตรที่สนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวเริ่มถอนตัวจากการแทรกแซงภายในรัสเซีย กองทัพแดงจึงเคลื่อนทัพอย่างรวดเร็วเพื่อโจมตีกรุงวอร์ซอ

 แม้อังกฤษและฝรั่งเศสจะประกาศสนับสนุนโปแลนด์ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพราะกรรมกรลู่เรือและการขนส่งของอังกฤษก่อการประท้วงไม่ยอมขนส่งเสบียงและอาวุธให้โปแลนด์ ทั้งเยอรมนียังปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรขนอาวุธผ่านพรมแดนไปโปแลนด์ ส่วนฝรั่งเศสได้ส่งคณะที่ปรึกษาทางทหารซึ่งมีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* เป็นครูฝึกรวมอยู่ด้วยมาให้คำแนะนำการกำหนดยุทธศาสตร์โดยให้จัดตั้งกองกำลังอยู่รอบนอกกรุงวอร์ซอเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายศัตรูรุกเข้ามาถึงพื้นที่ตอนในและอื่น ๆ แต่โปแลนด์ไม่ยอมรับคำชี้แนะทางทหารดังกล่าว ในปลายเดือนกรกฎาคม กองทัพแดงก็ยึดเมืองเบียลีสตอลเมืองหน้าด่านก่อนเข้าถึงกรุงวอร์ซอได้อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารและความไม่เป็นเอกภาพในการประสานงานระหว่างกองทัพแดงในแนวรบด้านเหนือและใต้ และความขัดแย้งเรื่องแผนรบระหว่างผู้บังคับบัญชากองทัพแดงทั้ง ๒ ฝ่าย กอปรกับการประเมินศักยภาพของกองทัพโปลตํ่าได้ทำให้เกิดช่องโหว่ในการปฏิบัติการรบ ในต้นเดือนสิงหาคมกองทัพโปลจึงเริ่มตั้งรับและต้านการบุกของทัพแดงไว้ได้

 ในกลางเดือนสิงหาคม มีการปะทะกันอย่างดุเดือดบริเวณส่งแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) และกองทัพแดงเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจนล่าถอยออกจากพื้นที่รอบนอกกรุงวอร์ซอชัยชนะของกองทัพโปลในยุทธการที่วอร์ซอ (Battle of Warsaw) ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ความมหัศจรรย์แห่งวิสตูลา” (Miracle of Vistula) ทำให้กองทัพโปลรุกกลับเข้ามายึดครองยูเครนตะวันตกได้อีกครั้งหนึ่งและจับเชลยชาวโซเวียตได้กว่า ๖๐,๐๐๐ คน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทัพแดงกำลังเปิดศึกรอบใหม่กับนายพลปิออตร์ รันเกล (Pyotr Wrangel)* ผู้นำคนใหม่ของฝ่ายรัสเซียขาวที่คาบสมุทรไครเมีย รันเกสติดต่อขอความร่วมมือจากปีลซุดสกีผู้นำโปแลนด์ให้ช่วยเขาต่อสู้กับรัสเซีย แต่ปีลซุดสกีปฏิเสธรัฐบาลโซเวียตซึ่งต้องการเผด็จศึกฝ่ายรันเกสโดยเร็วจึงขอเปิดการเจรจาสงบศึกกับโปแลนด์ การเจรจาสันติภาพครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ที่กรุงมินสค์ เบโตรัสเซีย แต่ไม่บรรลุความตกลงใด ๆ เพราะโปแลนด์กำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงครามในเดือนกันยายนมีการเจรจารอบ ๒ ที่กรุงรีกา (Riga) เมืองหลวงของสาธารณรัฐลัตเวีย (Latvia) โดยรัสเซียยื่นเงื่อนไขข้อตกลงให้โปแลนด์พิจารณารวม ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๒๑ และ ๒๘ กันยายนโปแลนด์ตอบรับการเจรจาและส่งเงื่อนไขที่ต้องการให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม รัฐบาลโซเวียตพิจารณาต่อรองและส่งข้อตกลงที่ปรับแก้และยอมรับได้ให้ โปแลนด์พิจารณาเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคมซึ่งโปแลนด์เห็นชอบทั้ง ๒ ฝ่าย จึงลงนามการสงบศึกเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ และนำไปสู่การลงนามระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียตในสนธิสัญญารีกาเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑

 สนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๐ ไม่เพียงยุติปัญหาแนวพรมแดนของทั้ง ๒ ประเทศเท่านั้น แต่ยังทำให้โปแลนด์ได้ดินแดนเพิ่มเติมทางด้านตะวันออกของแนวพรมแดนเคอร์เซินรวมเนื้อที่ ๑๐๓,๖๐๐ ตารางกิโลเมตรและทำให้สงครามกลางเมืองรัสเซียสิ้นสุดลงในเวลาอันรวดเร็ว เพราะรัฐบาลโซเวียตระดมกำลังทั้งหมดจากแนวรบโปแลนด์มาหนุนช่วยการรบในไครเมียจนมีชัยชนะต่อกองทัพฝ่ายรัสเซียขาวของนายพลรันเกล อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-โปแลนด์ที่ยุติลงก็ทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างโปแลนด์กับยูเครนสิ้นสุดลงด้วย เพราะโปแลนด์ละเมิดข้อตกลงลับในสนธิสัญญาวอร์ซอ ค.ศ. ๑๙๒๐ ยูเครนเห็นว่าโปแลนด์เป็นฝ่ายทรยศทั้งแย่งชิงกาลิเซียตะวันออกหรือยูเครนตะวันออกไปครอบครอง ในเวลาต่อมายูเครนตะวันออกก็เคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการปกครองของโปแลนด์ จนกลายเป็นปัญหาการเมืองที่รุนแรงในโปแลนด์ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ และ ๑๙๔๐

 ผลสำคัญของสงครามรัสเซีย-โปแลนด์คือสหภาพโซเวียตล้มเลิกความคิดที่จะผลักดันการก่อการปฏิวัติขึ้นในยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกซึ่งทำให้ยุโรปรอดพันจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นเวลา ๒๐ ปึ สหภาพโซเวียตหันไปมุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองภายในและปิดประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบสังคมนิยมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างงานศิลปวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์ตามแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* โปแลนด์ซึ่งเป็นฝ่ายมีชัยชนะยังปฏิเสธที่ถอนตัวจากการยึดครองดินแดนของลิทัวเนียคือ กรุงวิลนีอุส (Vilnius) และพื้นที่โดยรอบซึ่งได้ยึดครองในช่วงที่ลิทัวเนียทำสงครามกับโปแลนด์ สหภาพโซเวียตและฝ่ายรัสเซียขาวระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐ โปแลนด์จึงถูกกดดันจากองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างลิทัวเนียกับโปแลนด์ นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ทางทหารของโปแลนด์โดยเฉพาะการเน้นการเคลื่อนกำลังอย่างรวดเร็วของกองกำลังทหารม้าในการบุกโจมตีฝ่ายศัตรูจนมีชัยชนะทำให้โปแลนด์ให้ความสำคัญกับกองกำลังทหารม้าเป็นหลักและไม่สนใจที่จะปรับปรุงหรือพัฒนากองทัพด้านอื่น ๆ ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างมากต่อโปแลนด์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เพราะกองทหารม้าไม่สามารถสกัดกั้นการบุกแบบสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* ของเยอรมนีได้

 แม้สงครามรัสเซีย-โปแลนด์จะยุติปัญหาแนวพรมแดนระหว่างประเทศทั้งสองเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี แต่ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเยอรมนีเริ่มเพลี่ยงพลํ้าในการรบ ฝ่ายพันธมิตรนำปัญหาพรมแดนด้านตะวันออกระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียตมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการประชุมที่กรุงเตหะราน (Teharan Conference)* ค.ศ. ๑๙๔๓ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* ผู้นำของอังกฤษเสนอให้ยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับพรมแดนในสนธิสัญญารีกา ค.ศ. ๑๙๒๐ และให้กลับมาใช้แนวพรมแดนเคอร์เซินดังเดิม แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่มีข้อสรุปอย่างใด อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference)* ค.ศ. ๑๙๔๕ มหาอำนาจพันธมิตรยอมให้โปแลนด์ตกเป็นเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและให้แนวพรมแดนเป็นไปตามที่สหภาพโซเวียตกำหนดโปแลนด์ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรและมีส่วนร่วมต่อสู้กับนาซีเยอรมันในแนวรบด้านตะวันออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเห็นว่าประเทศพันธมิตรตะวันตกหักหลังตนและเป็นเสมือนการแบ่งดินแดนโปแลนด์ครั้งที่ ๔ หลังโปแลนด์ ตกอยู่ใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ปรับแก้เรื่องสงครามรัสเซีย-โปแลนด์โดยชี้ให้เห็นว่าสงครามที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากการแทรกแซงของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามกลางเมืองรัสเซียและทำให้สหภาพโซเวียตต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว.



คำตั้ง
Russo-Polish War; Polish-Soviet War
คำเทียบ
สงครามรัสเซีย-โปแลนด์; สงครามโปแลนด์-โซเวียต
คำสำคัญ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมที่ยัลตา
- กาลิเซียตะวันออก
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ความมหัศจรรย์แห่ง
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- เชโกสโลวะเกีย
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- โซเวียตยูเครน
- เดนีกิน, อันตอน
- แนวพรมแดนเคอร์เซิน
- บอลเชวิค
- เบลารุส
- เปตลูย์รา, ซีมอน
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรมแดนเคอร์เซิน
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- มหาอำนาจพันธมิตร
- มัคโน, เนสเตอร์
- ยุทธการที่วอร์ซอ
- ยูเครน
- ยูเครนตะวันออก
- ยูเดนิช, นีโคไล
- รันเกล, ปิออตร์
- ลิทัวเนีย
- ไวต์รัสเซีย
- สงคราม ค.ศ. ๑๙๒๐
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโปแลนด์-โซเวียต
- สงครามโปแลนด์-บอลเชวิค
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญารีกา
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- สันนิบาตชาติ
- เอสโตเนีย
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-; 1919-1921
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-; พ.ศ. ๒๔๖๒-๒๔๖๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-